วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ข้อดีและข้อเสีย ของการเรียนต่อต่างประเทศ

สำหรับใครบางคน การมีโอกาสเดินทางไปเรียนต่อและใช้ชีวิตในต่างแดนอาจเป็น
เหมือนฝันที่กลายเป็นจริง แต่ในขณะเดียวกัน การอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน
ท่ามกลางวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยก็อาจกลายเป็นฝันร้ายของใครหลายคน ดังนั้น 
การทำความเข้าใจในข้อดีและข้อเสียของการเรียนต่อต่างประเทศก่อนจะตัดสินใจ
ครั้งสำคัญจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

ข้อดีของการเรียนต่อต่างประเทศ

การเรียนต่อต่างประเทศถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้ที่จะยืนหยัดด้วยตนเอง
เนื่องจากข้อจำกัดของการใช้ชีวิตในต่างแดนจะบีบบังคับให้คุณต้องลงมือ
ทำทุกอย่างเอง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงบประมาณส่วนตัว จับจ่ายซื้อของ
ทำอาหารหรือทำความสะอาด นอกจากนี้ อิสระเสรีภาพที่คุณได้รับยามอยู่
ไกลหูไกลตาผู้ปกครองก็จะฝึกให้คุณรู้จักรับผิดชอบและควบคุมพฤติกรรม
ของตนให้อยู่ในระเบียบวินัย เพราะนักเรียนหลายคนอาจเพลิดเพลินไปกับ
การเข้าสังคมและแสงสีของอิสรภาพจนลืมไปว่าจุดประสงค์หลักของกา
รเดินทางมาต่างประเทศครั้งนี้คือความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน

ประสบการณ์และช่วงเวลายากลำบากระหว่างที่คุณใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน
จะหล่อหลอมให้คุณแข็งแกร่งและมีทักษะในการแก้ไขปัญหาที่ดีขึ้น อันจะ
เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของคุณไปอีกนานหลังจากชีวิตนักเรียนสิ้นสุด
ลงแล้วนอกจากนี้ การเรียนต่อต่างประเทศยังเป็นโอกาสอันดีที่คุณจะได้พบปะ
ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกที่มีพื้นเพทางวัฒนธรรมหลากหลายและมุมมองที่แตกต่าง
ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้คุณพัฒนาทักษะในการสื่อสารและการสร้างสัมพันธภาพกับ
คนแปลกหน้าที่มีอัตลักษณ์ต่างไปจากคุณ

ที่สำคัญไปกว่านั้น เมื่อถึงคราวที่คุณต้องเขียนประวัติย่อสำหรับสมัครงานหรือ
 CV คุณวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศก็ยังเป็นเสมือนจุดขายที่ทำให้ใบสมัคร
ของคุณดึงดูดความสนใจยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องพิสูจน์ศักยภาพ
ทางวิชาการของคุณแล้ว  การสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศยังแสดงให้ผู้
ว่าจ้างงานเห็นว่าคุณเป็นคนที่มีวุฒิภาวะ มีความพากเพียร ตลอดจนสามารถ
ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และพึ่งพาตนเองได้ด้วย

ข้อดีของการเรียนต่อต่างประเทศอีกข้อหนึ่งก็คือโอกาสในการลงทะเบียนเรียน
ในสาขาวิชาที่ไม่เปิดสอนในประเทศของคุณ หลักสูตรในต่างประเทศดังกล่าว
จะเอื้อให้คุณได้ศึกษาวิชาที่คุณสนใจผ่านมุมมองและบริบทของสังคมและวัฒน-
ธรรมที่แตกต่าง ซึ่งจะเป็นการเปิดกว้างทางการเรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอดและเสริม
สร้างโอกาสทางอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของคุณในอนาคต

ข้อเสียของการเรียนต่อต่างประเทศ

ข้อจำกัดแรกที่ทุกคนต้องเผชิญยามเรียนต่อต่างบ้านต่างเมืองก็คือการอยู่ห่างไกล
ครอบครัวและเพื่อนฝูง ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักเรียนหลายคนที่ไม่เคยจาก
บ้านไปอยู่ที่อื่นเป็นระยะเวลานานๆมาก่อน นอกจากนี้ ประสบการณ์ในต่างประเทศ
ยังอาจเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ไม่สามารถคาดเดามากมาย และหลายครั้งหลายหนก็นำ
ไปสู่ปัญหาและความผิดหวัง

เหตุการณ์เหนือความคาดคิดเหล่านี้จะทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกหากทักษะความรู้
ทางภาษาของคุณไม่เพียงพอที่จะเอื้อให้คุณใช้แก้ปัญหายามเผชิญหน้ากับ
วิกฤตการณ์ที่คับขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสำหรับคนที่ตั้งใจเดินทางไปศึกษา
หาความรู้เชิงวิชาการในระดับชั้นต่างๆ โดยเฉพาะการศึกษาต่อในระดับปริญญา
ข้อจำกัดด้านการใช้ภาษาก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจบทเรียน
และการสร้างสรรค์ผลงานวิชาการที่มีคุณภาพ

นอกเหนือจากเรื่องข้อจำกัดทางด้านภาษา การต้องไปใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพ
แวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยและประสบพบเจอกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ประดัง
เข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัวอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Culture Shockหรือ
อาการช็อคทางวัฒนธรรม ความตระหนกและความรู้สึกสับสนท่ามกลางสังคมและ
วัฒนธรรมใหม่เป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่แต่ละคนมีวิธีในการรับมือต่างกันออกไป
ซึ่งก็มีนักเรียนบางส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่าง
จากที่เคยเป็นอยู่ได้ ทำให้ใช้ชีวิตในสังคมต่างประเทศลำบาก

แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าการใช้ชีวิตนอกกรอบวัฒนธรรม
ที่เคยคุ้นจะเป็นการหล่อหลอมให้คุณพัฒนาทัศนคติเชิงบวกต่อความแตกต่าง
หลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม การมองต่างมุมของคุณก็จะช่วยให้คุณลดอคติ
ทางวัฒนธรรม เชื้อชาติและศาสนา และมีทัศนคติในการมองโลกแตกต่างไปจากเดิม
ซึ่งจะกลายเป็นทุนความรู้ในการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของสังคมและผู้คนในประเทศ
ที่คุณอาศัยอยู่ได้ดียิ่งขึ้นจนสามารถผสมผสานอัตลักษณ์เดิมเข้ากับวัฒนธรรมใหม่
อย่างสมดุลในที่สุด

การอยู่ห่างไกลสิ่งที่คุ้นเคยในขณะที่ต้องเปิดรับสิ่งใหม่ๆ รอบตัวที่ไม่เคยชิน ไม่ว่า
จะเป็นสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ อาหารการกิน วิถีชีวิต ธรรมเนียมปฏิบัติ ที่อยู่
อาศัย ผู้คนและข้อจำกัดด้านภาษาไม่ใช่เรื่องง่าย โดยความห่างไกลจากเพื่อน
และสมาชิกในครอบครัวที่คอยเป็นที่พึ่งพิงเมื่อถึงคราวลำบากก็มีส่วนทำให้การ
รับมือกับสถานการณ์ยากขึ้น แต่ก็นับเป็นเรื่องโชคดีที่ปัจจุบันเทคโนโลยีในการ
สื่อสารอย่างอีเมล์หรือแชทได้ช่วยให้การติดต่อทางไกลกับครอบครัวและเพื่อนฝูง
กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าในอดีตมากมายนัก   

ควรตัดสินใจเรียนต่อต่างประเทศหรือไม่

คงมีแต่ตัวคุณเท่านั้นที่จะสามารถตอบคำถามข้อนี้ได้ คุณต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน
และชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีกับข้อเสียของการเรียนต่อในต่างแดนเพื่อให้แน่ใจว่า
คุณจะสามารถรับมือกับข้อจำกัดต่างๆ ที่คุณอาจประสบพบเจออย่างถูกวิธี

นอกจากการเรียนภาษาเพื่อเตรียมความพร้อมแล้วสิ่งที่ควรทำเมื่อตัดสินใจ
เรียนต่อต่างประเทศก็คือการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเป็นอยู่หรือลักษณะ
นิสัยโดยทั่วไปของผู้คนในจุดหมายปลายทางที่คุณต้องการเดินทางไปให้ลึกซึ้ง
ในระดับหนึ่ง เนื่องจากแนวความคิดและทัศนคติทางสังคมของแต่ละประเทศล้วน
มีความแตกต่างกันไป ยังคงมีหลายแห่งที่ไม่ให้การยอมรับและเลือกปฏิบัติต่อ
คนบางกลุ่มอย่างไม่เท่าเทียมอยู่ ซึ่งประเด็นเรื่องการกีดกันทางเพศ สีผิวหรือ
ศาสนาเหล่านี้จะทำให้การใช้ชีวิตในต่างแดนของคุณยากยิ่งขึ้นหากคุณเป็น
ส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการยอมรับในประเทศ

หลังจากได้รับรู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประเทศแล้วก็ต้องทำการศึกษาราย-
ละเอียดของสถาบันและสาขาวิชาที่หมายปองเอาไว้เพื่อให้แน่ใจว่าหลักสูตร
ที่คุณเลือกเหมาะกับจุดมุ่งหมายและความสามารถของคุณที่สุด รวมไปถึง
ตรวจสอบข้อมูลค่าใช้จ่ายและข้อกำหนดทางกฎหมายของประเทศที่คุณ
ต้องการเดินทางไปเรียนอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอวีซ่า
ไปจนถึงกฎหมายแรงงานสำหรับนักเรียนที่ต้องการหางานพิเศษทำใน
ระหว่างเรียนเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง

เมื่อพิจารณาไตร่ตรองถึงข้อดีข้อเสียและตัดสินใจแน่วแน่ที่จะเรียนต่อ
ต่างประเทศแล้วก็จงเชื่อมั่นในการตัดสินใจของตนเอง และอย่าด่วน
ท้อถอยเมื่อเห็นวี่แววของปัญหาที่จะเกิดขึ้น พึงระลึกไว้เสมอว่า
การจัดการกับอุปสรรคและความท้าทายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของ
นักเรียนนอกเป็นส่วนหนึ่งของย่างก้าวแห่งการเติบโต ถ้าคุณเรียนรู้
ที่จะผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากตรงนี้ไปได้ ตัวคุณเองก็จะเข้มแข็ง
และสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตภายภาคหน้า
ได้อย่างมีสติและวุฒิภาวะมากขึ้น  
ที่มา: http://www.unigang.com

30 เรื่องจริงของเด็กไทยที่เรียนเมืองนอก

1.มักจะมีคำถามเสมอว่าทำไมไม่เรียนเมืองไทย เด็กไทยที่เรียนนอกก็จะอ้างเหตุผลนั้นนี่ไปเรื่อย แต่หลายๆคนคิดว่า "เบื่อ" แต่น้อยคนที่จะกล้าพูด ฮ่าๆๆๆ 
2. มักจะรับวัฒนธรรมของประเทศที่ตัวเองไปอยู่โดยบางคนไม่รู้ตัว 
3. และเมื่อกลับมาไทยจะโดนคนอื่นมองว่าก้าวร้าวบ้าง แต่ก็ไม่หวั่นเพราะคิดว่าไม่ผิด
4. หลายคนที่ไปอยู่หลายปีมักจะมีมุมมองที่ต่างจากเด็กไทยที่เรียนเมืองไทย 
5. เช่น การเถียงครูเป็นเรื่องไม่ผิด (ตามประเทศทางตะวันตก และ อเมริกา) เพราะทางประเทศพวกนั้นเขาสอนให้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ แต่ อ่า อ๊าา เดี๋ยวก่อน ต้องเถียงอย่างมีเหตุผลและใช้ภาษาอย่างสุภาพนะครับ อย่าเข้าใจผิดว่าลุกขึ้นมาด่า ช็อตๆๆ 
6. สำหรับเด็กไทยที่ไปโตประเทศนั้นมาตั้งแต่เด็กจริงๆ จะพูด,อ่าน,เขียน ภาษาไทยไม่ชัด แต่ภาษาฟังน่าจะโอเค (อันนี้แล้วแต่ว่าที่บ้านเลี้ยงมายังไงด้วยนะครับ) 
7.จะชอบเปรียบเทียบระหว่างเมืองไทย เมืองนอกเสมอ 
8. พวกที่ไปตอนโตแล้วซักนิดนึงก่อนไปอาจจะมีปัญหาเรื่องนั่นเรื่องนี่ แต่พออยู่ไปนานๆแล้วก็เพลินกับชีวิตซะสุดๆ 
9.เราจะพูด อ่าน เขียน ฟัง ภาษาของประเทศที่ไปอยู่ได้อย่างรวดเร็วมาก 
10.แต่ทั้งนี้ก็มีกรณียกเว้นเด็กบางคนที่ไม่ชอบเข้าสังคม ภาษาก็อาจจะช้านิดนึง แต่ยังไงก็ต้องได้ศัพท์ในการเอาตัวรอด
11.แม้รู้ว่าการอยู่เมืองนอกไม่ควรจับกลุ่มอยู่แต่กับคนไทยเท่านั้น แต่พอมีเพื่อนเป็นคนไทยก็อดไม่ได้ที่จะอยู่ด้วยกันและคุยภาษาไทยกันต่อ ฮ่าๆ 
12.เมื่อแรกอยู่ อาจจะไม่ค่อยเคยชินกับวัฒนธรรมนั้นๆตอนแรกเจอ แต่เมื่ออยู่ไปซักพักกลับมามองตัวเอง อ้าวเราติดนิสัยมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เหอะๆ ! 
13.ก็มีคนไทยส่วนหนึ่งดัดจริต แกล้งดัดจริต ทำไมออกสำเนียงไม่ชัดบ้าง กลับไทยมาทำท่าไม่ชินบ้าง (ในขณะที่บางคนอยู่ไทยมากว่า 20 ปี อยู่นอกแค่เทอมเดียว) กลับมากลายเป็นไม่ชินซะแล้ว โอ้ ช่างสุดยอดจริงๆ
ปล. ข้อนี้ไม่แนะนำให้เอาตัวอย่างนะครับ 
14.แต่ในขณะที่คนไทยที่อยู่เมืองนอกนานแล้วซักพักจะทำตัวปกติในรูปแบบที่เป็นตัวเอง น้อยคนที่จะดัดจริต (เพราะชิน) 
15.ไม่ว่าคนไทยไปอยู่ประเทศอะไร พูดภาษาอะไร แต่สำเนียงก็ไทยอยู่ (80 % ) ยกเว้นคนที่มีความทางสามารถทางภาษา หรือ ลิ้นอ่อน หรือ อยู่ตั้งแต่เด็กๆเลยจริงๆ 
16. จากข้อข้างต้นที่กล่าวมาทำให้เวลาพูดคนไทยจะเดาได้ว่าคนนี้เป็นคนชาติเดียวกัน
17.คนไทยหลายคนเวลาไม่พอใจกับต่างชาติแต่ไม่อยากมีเรื่อง มักจะใช้ภาษาไทยนินทาต่อหน้า (ฮ่าๆๆๆ) เพราะรู้ว่ายังไงเขาก็ฟังไม่ออกอยู่แล้วนี่
18.แต่เดี๋ยวก่อน ก็ต้องระวังด้วยนะครับ เพราะเมืองนอกก็มีคนเรียนภาษาไทย หรือ มีคนไทยที่เราดูไม่ออกว่าเป็นคนไทย มันเคยมีกรณีเกิดขึ้นมาแล้วนะ พูดภาษาไทยออกไปแล้วเขาฟังออก (หลังจากนั้นคิดเอาเอง.....) 
19. เด็กไทยเรียนนอกชอบบ่นเรื่องอากาศ พอหนาว(ก็หนาวเกิน) พอร้อน ก็บ่นอีก(ทั้งๆบางทีลืมไปแล้วเหรอครับ ว่าไทยร้อนกว่า) ฮ่าๆๆๆ
20.วิชาคณิตศาสตร์สามารถเชิดหน้าชูตาเด็กไทยได้เป็นอย่างมาก บางคนเรียนคณิตศาสตร์ในไทยได้เกรด 2.5 ไปเรียนเมืองนอกกลายเป็น Whiz kid ซะอย่างนั้น
21.เวลาเจอคนไทยที่นั่นจะรู้สึกอ๋อ นี่คนบ้านเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ทักกันหรอก แต่ก็มีบ้างที่ทัก
22.สำหรับคนเรียนนานาชาติที่เมืองนอกจะรู้สึกสนุกสนานที่ได้เจอเพื่อนต่างชาติต่างวัฒนธรรม แต่บางวัฒนธรรมเราจะรับไม่ได้
23.ชอบสอนการทักทายพร้อมการไหว้ให้เพื่อนต่างชาติได้ดู และเขาก็ทำตามก็รู้สึกภูมิใจ 
24.ในกรณี home sick เคยเกิดขึ้นแล้วกับเด็กไทยทุกคน บางคนมาก บางคนน้อย 
25.พอได้ยินเพลงไทยเปิดตามถนน หรือในห้าง เราก็จะรู้สึกโอ้ ภูมิใจ !
26. หากเด็กไทยกลุ่มไหนอยู่กับชาติที่ตรงต่อเวลา ก็จะติดนิสัยตรงต่อเวลา และเมื่อกลับมาไทยก็จะรู้สึกไม่ชอบเวลาเจอคนไม่ตรงต่อเวลา (เป็นข้อดี) 
27. เด็กไทยหลายคนช่วยเหลือตัวเองได้จากการไปอยู่เมืองนอก 
28. เด็กไทยที่ไปอยู่เมืองนอกถูกปลูกฝังความกล้าคิด กล้าแสดงออก โดยมิต้องเกรงกลัวใครหากไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
29. เด็กไทยที่ไปอยู่เมืองนอกจำนวนมากกล้าที่จะแสดงความคิดตอบโต้กับผู้ใหญ่ ซึ่งมิได้เป็นการก้าวร้าวในทัศนคติของเขา (ซึ่งผู้ใหญ่ควรเปิดมุมกว้างพอที่จะรับมุมของเด็กกลุ่มนี้ได้) 
30. เด็กไทยที่ยังพูด เขียน ภาษาไทยได้ดี นับเป็นความสามารถพิเศษในเมืองนอกกันเลยดีเดียว รวมถึงเพื่อนต่างชาติจะรู้สึก Oh! It's amazing! เพราะภาษาเรามีความงดงามอยู่ไม่น้อย
ก็มีทั้งจริงบ้าง ไม่จริงบ้างก็อ่านหนุกๆก็แล้วกันนะ
ข้อมูลจาก www.unigang.com